การให้อภัยและความสำนึกคุณ

เอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วอง

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 คริส วิลเลียมส์ คุณพ่อลูกสี่และอธิการในยูทาห์ พาครอบครัวออกไปรับประทานอาหารข้างนอก  ขณะขับรถกลับบ้านในคืนวันศุกร์อันน่าสลดใจ รถอีกคันหนึ่งขับมาด้วยความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง คนขับอายุ 17 ปีและเมาสุรา รถที่เขาขับพุ่งเข้าชนรถของครอบครัววิลเลียมส์  แรงกระแทกทำให้รถหมุนคว้างไปปะทะเสาสะพานใต้ทางด่วน  เมื่ออธิการวิลเลียมส์รู้สึกตัว เขามองสภาพที่เห็นในรถและพบว่ามิเชลล์ ภรรยาของเขาผู้ตั้งครรภ์ลูกคนที่ห้าเสียชีวิตพร้อมกับเบ็นจามิน ลูกชายและแอนนา ลูกสาว 

ขณะอธิการวิลเลียมส์รอรถฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่มายังสถานที่เกิดเหตุ เขาบอกว่าสิ่งที่ใจเขาคิดในเวลานั้นคือ “ใครก็ตามที่ทำแบบนี้กับเรา ผมให้อภัยพวกเขา ผมไม่สนใจหรอกว่าสภาพการณ์จะเป็นอย่างไร ผมให้อภัยพวกเขา”1

การเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่น โดยเฉพาะกับคนที่ทำผิดต่อเรา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด  หากเราจะเป็นเหมือนพระคริสต์ได้ เราต้องพยายามทำตามแบบอย่างคุณลักษณะและพระจริยวัตรของพระองค์  พระคริสต์ทรงถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ถูกตัดสินว่าผิดอย่างไม่เที่ยงธรรม และถูกโบยตีอย่างโหดเหี้ยม  แต่ขณะที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน พระองค์ตรัสว่า “พระ‍บิดา​เจ้า‍ข้า ขอ​ทรง​ยก​โทษ​พวก‍เขา​เพราะ​เขา​ไม่​รู้​ว่า​กำลัง​ทำ​อะไร” (ลูกา 23:34)  เราก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระลักษณะแห่งการให้อภัยของพระเยซูคริสต์เช่นกัน  พระองค์ตรัสว่า “ ผู้ใดก็ตามที่รับบัพติศมาจะรับบัพติศมาสู่การกลับใจ.  และผู้ใดก็ตามที่เจ้ารับจะเชื่อในนามของเรา; และผู้นั้นเราจะเต็มใจให้อภัย” (โมไซยาห์ 26:22)

เพื่อจะให้อภัยเหมือนอย่างพระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัย เราต้องเรียนรู้ที่จะรักดังที่พระองค์ทรงรักและมองผู้อื่นดังที่พระองค์ทรงมอง  เป็นเรื่องง่ายที่จะรักคนที่รักเรา  พระเยซูตรัสว่าแม้คนชั่วร้ายก็ทำเช่นนั้นได้  แต่พระเยซูทรงสอนกฎที่สูงกว่า “จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน และ​จง​อธิษ‌ฐาน​เพื่อ​บรร‌ดา​คน​ที่​ข่ม‍เหง​พวก‍ท่าน” (มัทธิว 5:44)  ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกล่าวว่า “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์สามารถขจัดความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังออกจากดวงตาของเรา ทำให้เรามองเห็นผู้อื่นในแบบที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเห็นเรา ว่าเป็นมนุษย์ที่บกพร่องและไม่ดีพร้อมผู้มีศักยภาพและมีค่าควรเกินกว่าที่เราจะคาดคิด  เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรามาก เราจึงต้องรักและให้อภัยกัน”2

เรา “ต้องรักและให้อภัยกัน”  การไม่ให้อภัยผู้อื่นไม่เพียงเป็นบาปเท่านั้น แต่เป็นบาปร้ายแรงกว่าสิ่งที่ผู้อื่นกระทำต่อเรา  พระเจ้าทรงสอนว่า “ดังนั้น, เรากล่าวแก่เจ้า, ว่าเจ้าควรให้อภัยกัน; เพราะคนที่ไม่ให้อภัยความผิดแก่พี่น้องตนย่อมอยู่ในสภาพที่ถูกกล่าวโทษต่อพระพักตร์พระเจ้า; เพราะบาปที่ร้ายแรงกว่ายังคงอยู่กับเขา. เรา, พระเจ้า, จะให้อภัยผู้ที่เราจะให้อภัย, แต่เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” (คพ. 64:9-10)

เพื่อเราจะได้รับความเมตตา เราต้องเต็มใจให้ผู้อื่นก่อน (มัทธิว 5:7)  ในคำเทศนาบนภูเขา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “เพราะ​ว่า​ถ้า​พวก‍ท่าน​ให้​อภัย​การ​ล่วง‍ละ‌เมิด​ของ​เพื่อน​มนุษย์ พระ‍บิดา​ของ​ท่าน​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​จะ​ทรง​ให้​อภัย​การ​ล่วง‍ละ‌เมิด​ของ​พวก‍ท่าน​ด้วย แต่​ถ้า​พวก‍ท่าน​ไม่‍ให้​อภัย​การ​ล่วง‍ละ‌เมิด​ของ​เพื่อน​มนุษย์ พระ‍บิดา​ของ​ท่าน​จะ​ไม่​ทรง​ให้​อภัย​การ​ล่วง‍ละ‌เมิด​ของ​พวก‍ท่าน​เหมือน‍กัน” (มัทธิว 6:14-15)

เราไม่ควรเข้าใจว่าการให้อภัยผู้อื่นเป็นการยอมยกโทษให้การกระทำโดยมิชอบ การทำร้าย การทำอันตราย ความเลินเล่อหรือพฤติกรรมเลวร้ายอื่นๆ  การให้อภัยผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับความยุติธรรมหรือบุคคลควรอดทนต่อการกระทำทารุณกรรม  แต่การให้อภัยผู้อื่นช่วยให้เราเป็นเหยื่อได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดถึงการให้อภัยว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าการให้อภัยอาจเป็นคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินโลก และเป็นที่ต้องการมากที่สุดโดยไม่ต้องสงสัย  มีความโหดร้ายและการกระทำทารุณกรรมมากมายอันเนื่องจากความไร้ขันติธรรมและความเกลียดชัง  การกลับใจและการให้อภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง  นี่คือหลักธรรมสำคัญที่กล่าวย้ำไว้ในพระคัมภีร์ทุกเล่ม ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน”3

การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการให้อภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราให้อภัยผู้อื่นด้วย  เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์พูดถึงความสูญเสียที่ครอบครัววิลเลียมส์ต้องอดทนว่า “คริส วิลเลียมส์ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ให้อภัยคนขับรถเมาสุราผู้เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของภรรยาและลูกสองคน เพียงสองวันหลังจากเหตุสลดใจนี้ขณะยังโศกเศร้าอยู่มาก ชายผู้ให้อภัยคนนี้ ซึ่งขณะนั้นรับใช้เป็นอธิการคนหนึ่งของเรากล่าวว่า ‘ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ ผมไม่มีทางเลือกอื่น’”4   เมื่อเราพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยผู้อื่น เราสามารถทูลขอพลังจากพระผู้เป็นเจ้าให้ทำเช่นนั้นได้  พระองค์ทรงปรารถนาจะให้อภัยเราฉันใด พระองค์ทรงต้องการให้เราให้อภัยผู้อื่นฉันนั้น


อ้างอิง

Deseret News, April 8, 2013

2 ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พฤษภาคม 2012, 76.

3 กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “การให้อภัย,” เลียโฮนา, พฤศจิกายน 2005, 96.

4 ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ผู้ติดตามของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พฤษภาคม 2013, 98.