ข่าวสารจากผู้นำภาคเอเชีย (กรกฎาคม 2023)

การสร้างสันติในโลกที่ขัดแย้ง

สินทรัพย์อันมีค่าสูงสุดของเราสำหรับการสร้างสันติในโลกที่ขัดแย้งคือการเลือกที่จะให้ใจเราเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ซึ่งทำให้เกิดความสงบและการปลอบประโลมในช่วงเวลาขัดแย้ง

เอ็ลเดอร์เคลลีย์ อาร์. จอห์นสัน
เอ็ลเดอร์เคลลีย์ อาร์. จอห์นสัน ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานภาคเอเชีย

ถ้าเราต้องการเป็นผู้สร้างสันติในโลกที่ขัดแย้ง คำถามที่เราต้องถามตนเองคือ “ใจฉันอยู่ที่ไหน?”  หนึ่งในส่วนที่ข้าพเจ้าชอบในภาษาไทยคือการรวมคำว่า “ใจ” ไว้ในคำอธิบายถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ  ตัวอย่างเช่น คุณลักษณะของความเยือกเย็น สงบ และอดทนจะแสดงออกในคำไทยที่แปลตรงๆ ได้ว่า “ใจเย็น”  อารมณ์ตรงข้ามของการโกรธง่าย รีบร้อนหรืออารมณ์ร้อนจะแสดงออกในคำไทยที่แปลได้ว่า “ใจร้อน” วิธีนำอารมณ์และความรู้สึกมาผนวกกับใจเพื่อสร้างคำเช่นนี้มีความหมายดีมากและเชิญให้เรานึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงที่เกิดอารมณ์เหล่านั้น

พระคัมภีร์มีข้ออ้างอิงมากมายถึงใจที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าใจเราทรงพลังเพียงใดในการนำทางความคิดและอารมณ์ของเรา ต่อไปนี้เป็นบางข้อในจำนวนข้อพระคัมภีร์เหล่านั้น:

“โดยมีใจของพวกเขาผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน.” (โมไซยาห์ 18:21)
“สุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม” (มัทธิว 11:29)
“จงรื่นเริงใจและชื่นชมยินดีเถิด,” (ค.พ. 31:3)
“ผู้ใดสมัครใจ” (อพยพ 35:5)
“ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” (3 นีไฟ 9:20)
“ใจบริสุทธิ์” (สดุดี 24:3-4)

สิ่งสำคัญเพิ่มเติมคือพระดำรัสสอนเฉพาะนี้จากพระเจ้าที่ระบุชัดว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญต่อพระองค์  พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “อย่ามองดูที่รูปร่างภายนอกหรือที่ความสูงแห่งร่างกายของเขา เพราะเราไม่ยอมรับเขา เพราะพระยาห์เวห์ไม่ได้ทอดพระเนตรเหมือนที่มนุษย์ดู เพราะมนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอก แต่พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ซามูเอล 16:7; เน้นตัวเอน)
 


“โดยมีใจของพวกเขาผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน.”

โมไซยาห์ 18:21

เราสามารถจัดการกับความขัดแย้งและความผิดหวังในโลกได้ด้วยการควบคุมดูแลอย่างระมัดระวังต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในใจของเราเอง  ตัวอย่างเช่น เมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเราปล่อยให้ใจเราร้อนหรือเย็น?


พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการควบคุมสิ่งที่อยู่ในใจเรา  ชายคนหนึ่งมีบุตรชายสองคน  คนเล็กขอมรดกส่วนที่เป็นของตนจากบิดาแล้วออกจากบ้านไปยังประเทศห่างไกล ผลาญมรดกส่วนของเขาจนหมดไปกับการดำเนินชีวิตเสเพล  สุดท้ายเกิดการกันดารอาหารในแผ่นดินนั้นและชายหนุ่มคนนี้ไม่มีอะไรจะกิน  ด้วยความสิ้นหวัง เขาตัดสินใจกลับบ้านและขอให้บิดาจ้างเขาไว้ในฐานะคนรับใช้  การกลับมาของบุตรชายทำให้บิดาคนนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าสนใจ  เขาต้องเลือกว่าจะโกรธ ขมขื่นหรือเคืองแค้น หรือจะยอมให้ใจเปี่ยมด้วยความดีงาม การยอมรับและความสำนึกคุณที่บุตรชายกลับมา  ด้วยความ “ใจเย็น” บิดาคนนี้เลือกที่จะรัก เขาวิ่งไปหาบุตรชาย พาไปเปลี่ยนเสื้อผ้า สวมแหวนให้ แล้วจัดงานเลี้ยงต้อนรับ  ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความขัดแย้งนี้ ความ “ใจเย็น” ของบิดาช่วยให้คุณลักษณะอันงดงามแสดงให้ประจักษ์  ใจของพี่ชายคนโตในเรื่องนี้ก็ถูกทดลองในทำนองเดียวกัน  เขาอาจยอมให้ใจเขาเต็มไปด้วยความโกรธ การไม่ยอมรับ และความริษยาที่มีงานเลี้ยงต้อนรับน้องชาย  หรือเขาอาจยอมให้ใจของเขาเปี่ยมด้วยความดีงาม การยอมรับและความสำนึกคุณที่น้องชายผู้หายไปกลับมา  น่าเศร้า ที่เราเรียนรู้ว่าบุตรชายคนโตยอมให้ความ “ใจร้อน” เข้าครอบงำและไม่มาร่วมงานเลี้ยงต้อนรับฉลองการกลับมาของน้องชาย (ลูกา 15:11-32)
 

การสร้างสันติในโลกที่ขัดแย้ง

สินทรัพย์อันมีค่าสูงสุดของเราสำหรับการสร้างสันติในโลกที่ขัดแย้งคือการเลือกที่จะให้ใจเราเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ซึ่งทำให้เกิดความสงบและการปลอบประโลมในช่วงเวลาขัดแย้ง

พลังอำนาจสูงสุดที่จะใช้ในการควบคุมและเปลี่ยนใจเราเพื่อสิ่งที่ดีกว่ามาจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์  “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ของใจที่แอลมาประสบทำงาน “ตามศรัทธาของ [เขา]” และใจของผู้ติดตามเขาเปลี่ยนแปลงขณะ “มอบความไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่” (แอลมา 5:12-13)  ในทำนองเดียวกัน ใจของผู้คนของกษัตริย์เบนจามินก็ “เปลี่ยนแปลงโดยผ่านศรัทธาในพระนามของ [พระผู้ช่วยให้รอด]” (โมไซยาห์ 5:7)  หนังสือฮีลามันสอนเราเรื่องกระบวนการที่จำเป็นต่อการได้รับ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งของใจ” เช่นนี้  เราอ่านพบว่าผู้คน “อดอาหารและสวดอ้อนวอนบ่อยครั้ง, ... , และมั่นคงยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในศรัทธาแห่งพระคริสต์, ... แม้ถึงการชำระและทำให้ใจพวกเขาบริสุทธิ์, ซึ่งการชำระให้บริสุทธิ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะการยอมถวายใจพวกเขาต่อพระผู้เป็นเจ้า.” (ฮีลามัน 3:35)

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการสร้างสันติในโลกที่ขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงและควบคุมใจเราให้เปี่ยมด้วยคุณลักษณะและอารมณ์ที่สามารถสร้างสันติได้อยู่เสมอ  ถ้าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เปลี่ยนแปลงใจเราได้อย่างแท้จริง การกระทำและการตอบสนองของเราจะนำสันติมาสู่สถานการณ์ขัดแย้งทุกสถานการณ์