ข่าวสารจากผู้นำภาคเอเชีย (กุมภาพันธ์ 2023)

พลังแห่งการศึกษาพระคัมภีร์ตลอดชีวิต

การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์เป็นประจำนั้นจำเป็นต่อวิญญาณของเราพอๆ กับที่การกินและการดื่มจำเป็นต่อร่างกายของเรา 

เอ็ลเดอร์ไมเคิล จอห์น เทห์
เอ็ลเดอร์ไมเคิล จอห์น เทห์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานภาคเอเชีย

การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์เป็นประจำนั้นจำเป็นต่อวิญญาณของเราพอๆ กับที่การกินและการดื่มจำเป็นต่อร่างกายของเรา อย่างไรก็ตาม เรามักจะตั้งใจให้อาหารทางร่างกายมากกว่าการให้อาหารทางวิญญาณ นี่เป็นการทดสอบอย่างหนึ่งของความเป็นมรรตัย

อาหารหลัก
ข้าวเป็นอาหารหลักในฟิลิปปินส์ เฉกเช่นประเทศในเอเชียหลายๆ ประเทศ เรากินข้าววันละสามมื้อทุกวัน ข้าพเจ้ามีโอกาสใช้เวลาร่วมกับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์เมื่อพวกเขาเข้าร่วมการอบรมในยูทาห์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากไม่ได้กินข้าวอยู่สองสามวัน เกือบทุกคนพูดว่า “ฉันต้องได้กินข้าว ฉันรู้สึกไม่อิ่มเลยถ้ากินแต่ขนมปังหรือมันฝรั่ง”  แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการอาหารหรือหิวโหย อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่โตมากับการกินข้าวทุกมื้อ ความรู้สึกคุ้นเคยและความพึงพอใจที่ได้กินข้าวนั้นหายไป ข้าพเจ้าเชื่อว่าการศึกษาพระคัมภีร์เป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของวิญญาณเรา หากปราศจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ วิญญาณของเราจะไม่มีวันรู้สึกอิ่มได้เลย

“มันเริ่มมีรสเลิศสำหรับข้าพเจ้า”
บางครั้งท่านเคยรู้สึกไหมว่าการศึกษาพระคัมภีร์นั้นน่าเบื่อ? ข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนเคย และหลายคนอาจยังคงมีความรู้สึกเหล่านั้นอยู่บ้างเป็นครั้งคราว หากเป็นเช่นนั้น จงมุ่งมั่นและ “เปรียบพระคัมภีร์ทั้งหมดกับเรา” จนกว่าเราจะรักพระคัมภีร์  

เริ่มด้วยสิ่งเล็กๆ บางครั้งเมื่อเราต้องการเปลี่ยนแปลง เราต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยทันที และกลายเป็นว่าเราหัวเสีย การสร้างนิสัยในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เกิดขึ้นโดย “บรรทัดมาเติมบรรทัด กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ ท่านอาจเริ่มโดยการอ่านวันละ 15 นาที และเพิ่มขึ้นจากนั้น สิ่งสำคัญคือทำให้ต่อเนื่อง มุ่งมั่นทำทุกวันไม่ขาด นี่คือจุดประสงค์ของ “ความท้าทาย 21 วัน” ข้าพเจ้าขอเชิญท่านอีกครั้งให้รับคำท้า ในวันสุดท้ายของวันที่ยี่สิบเอ็ดท่านจะประหลาดใจเมื่อค้นพบว่าท่านมีความสามารถและความปรารถนามากขึ้นที่จะ “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์” พระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่จะ “เริ่มมีรสเลิศสำหรับ (ท่าน)”
 


“ถ้าภาษาในพระคัมภีร์อาจฟังดูแปลกสำหรับท่านในตอนแรก จงอ่านต่อไป ไม่นานท่านจะตระหนักถึงความสวยงามและพลังอำนาจที่มีอยู่ในหน้าพระคัมภีร์”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

ภาษาพระคัมภีร์
ท่านเคยรู้สึกไหมว่าภาษาพระคัมภีร์ดูเหมือนจะไม่คุ้นเคยและเข้าใจยาก? ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แนะนำว่า “ถ้าภาษาในพระคัมภีร์อาจฟังดูแปลกสำหรับท่านในตอนแรก จงอ่านต่อไป  ไม่นานท่านจะตระหนักถึงความสวยงามและพลังอำนาจที่มีอยู่ในหน้าพระคัมภีร์” (“กุญแจสู่การคุ้มครองทางวิญญาณ” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 27)   
ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อหลานสองคนของข้าพเจ้ากำลังฝึกพูดคำสองสามคำ ข้าพเจ้ารู้สึกแย่มากที่ฟังพวกเขาไม่เข้าใจ! ราวกับว่าภาษาของพวกเขามาจากสมัยโบราณและได้สาบสูญไปแล้ว  อย่างไรก็ตาม เรื่องอัศจรรย์ของทั้งหมดคือแม่ของพวกเขา ลูกสาวของเราเข้าใจทุกคำเพราะเธออยู่กับพวกเขาตลอดเวลาและคุ้นเคยกับภาษาของพวกเขา

คู่มือแนะนำ 
ในฐานะผู้สอนศาสนาหนุ่ม ข้าพเจ้าเริ่มค้นพบปีติและพรของการศึกษาพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าชอบเวลาหลายชั่วโมงของการศึกษาที่จัดสรรไว้ในตารางประจำวันของเรา เราได้รับข้อพระคัมภีร์สำคัญๆ ที่กระตุ้นให้เราทำความคุ้นเคยและท่องจำหากเป็นไปได้ ข้อเหล่านี้ช่วยได้มากเมื่อเราสอนพระกิตติคุณและช่วยเพื่อนของเราแก้ไขข้อกังวลต่างๆ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้หลังจากนั้นว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นไม่เพียงมีไว้สำหรับเพื่อนของเราเท่านั้น น่ายินดีที่ข้อเหล่านั้นกลายเป็นส่วนเล็กๆ ของความจริงอันสูงส่งที่ทรงพลังสำหรับข้าพเจ้าทุกวันนี้ หนึ่งในความจริงเหล่านั้นอยู่ในจดหมายอันอ่อนโยนของอัครสาวกเปาโลถึงทิโมธีคู่สอนศาสนาที่รักของท่าน

“และตั้งแต่เด็กมาแล้ว ท่านก็ได้เรียนรู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถให้ปัญญาแก่ท่านในเรื่องความรอดโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การแก้ไขสิ่งผิด และการอบรมในความชอบธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะมีความสามารถและพรักพร้อมเพื่อการดีทุกอย่าง”
(2 ทิโมธี 3:15-17)
 

พลังแห่งการศึกษาพระคัมภีร์ตลอดชีวิต

ข้อนี้มีผลอันทรงพลังต่อข้าพเจ้าในฐานะผู้ศึกษาพระคัมภีร์ ข้อนี้ตรึงใจข้าพเจ้าอย่างสุดซึ้งว่าพระคัมภีร์สามารถนำทางเราผ่านความเป็นมรรตัยได้อย่างไร และสอนข้าพเจ้าว่ายิ่งไปกว่าความรู้สึกอันยอดเยี่ยมที่ข้าพเจ้าได้รับจากการศึกษา ข้าพเจ้ายังสามารถได้รับการดลใจอีกด้วย ข้าพเจ้าได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำในทางชอบธรรมและช่วยให้ได้รับ “ปัญญา… ในเรื่องความรอด” เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน สอนว่า “ในท้ายที่สุด จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทั้งหมดคือเพื่อเติมจิตวิญญาณเราให้เต็มไปด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์” (“The Blessing of Scripture”, Ensign, พ.ค. 2010)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “เราทุกคนต้องการการนำทางผ่านชีวิตนี้ เราได้รับการนำทางได้ดีที่สุดจากงานมาตรฐานและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยความพยายามอย่างขยันหมั่นเพียร เราสามารถบรรลุการนำทางนั้นได้และมีคุณสมบัติคู่ควรรับพรทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ให้บุตรธิดาที่ซื่อสัตย์ของพระองค์” (“Living by Scriptural Guidance”, Ensign, พฤศจิกายน 2000)

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพลังพระคัมภีร์จะซึมซาบในชีวิตเราหากเราศึกษาพระคัมภีร์เหล่านั้นตลอดการเดินทางในมรรตัยของเรา