เมื่อเร็วๆ นี้ในเช้าวันเสาร์ที่สวยงามวันหนึ่ง ขณะที่ดิฉันมุ่งหน้ากลับบ้านจากพระวิหารบาวติฟูล ยูทาห์ ดิฉันขับรถผ่านนักปั่นจักรยานหลายคนที่พยายามอย่างหนักที่จะปั่นสวนขึ้นไป เมื่อมองดูพวกเขาพยายามปั่นขึ้นทางชันที่ดิฉันมองว่าไม่น่าจะปั่นขึ้นได้ ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในหัวคือ “พวกเขาต้องบ้าแน่ๆ” ดิฉันค่อนข้างแน่ใจว่าศาสดาพยากรณ์อิสยาห์คงนึกถึงพระวิหารบาวติฟูลเมื่อท่านกล่าวว่า “ในวาระสุดท้ายจะเป็นดังนี้ คือภูเขาแห่งพระนิเวศของพระยาห์เวห์จะถูกสถาปนาขึ้นเป็นที่สูงสุดของภูเขาทั้งหลาย” (อิสยาห์ 2:2) เพราะพระวิหารอยู่บนยอดภูเขาอันไกลโพ้น และนี่คือนักปั่นจักรยานบ้าบิ่นที่พยายามจะขึ้นไปบนยอดภูเขาลูกนั้น—ภูเขาที่รถยนต์ของดิฉันยังขับขึ้นได้ยาก—ด้วยจักรยาน พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่?
จากนั้นดิฉันก็ฉุกคิดได้ บางทีพวกเขาอาจคิดว่าการพยายามอย่างหนักจะทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น บางทีพวกเขาอาจคิดว่าการขึ้นไปบนยอดเขาจะเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมเพราะราคาที่พวกเขาต้องจ่ายออกไปเพื่อให้ได้ไปถึงที่นั่น บางทีพวกเขาอาจคิดว่าดิฉันจะไม่มีวันได้ชื่นชมวิวนั้นเหมือนที่พวกเขาจะได้เห็นเพราะไม่ได้เจอความลำบากแบบเดียวกันเพื่อให้ไปถึงที่นั่น (ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะดิฉันไม่เคยแม้แต่จะมองวิวตรงนั้นเลยจนกระทั่งพวกเขาทำให้ดิฉันคิดได้) บางทีพวกเขาอาจคิดว่าการเตรียมตัวทั้งหมดเพื่อไปถึงจุดนั้นคุ้มค่ามาก บางทีพวกเขาอาจจะไม่ได้บ้าเลย
เมื่อพิจารณาถึงประสบการณ์ที่ดิฉันจินตนาการไว้สำหรับนักปั่นจักรยานบนยอดเขานั้น ดิฉันก็เริ่มนึกถึงประสบการณ์ที่หวังว่าครอบครัวและดิฉันจะได้รับระหว่างการประชุมศีลระลึกทุกสัปดาห์ เราเตรียมตัวและคาดหวังประสบการณ์ทุกสัปดาห์ของเรากับพระเจ้าด้วยความพากเพียรและความพยายามอย่างเดียวกันหรือไม่? เมื่อเร็วๆ นี้เราได้รับคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำที่ได้รับการดลใจของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันระหว่างการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2015 และการฝึกอบรมพิเศษที่เราหวังว่าทุกคนจะได้รับในวอร์ดและสาขาของเรา เรามีหลายอย่างให้พิจารณาเกี่ยวกับการถือปฏิบัติวันสะบาโตและสิ่งที่เราทำเพื่อให้วันสะบาโตมีความหมายมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์
เตรียมตัวให้พร้อมทุกวัน
ดิฉันไม่แน่ใจนักแต่เดาว่านักปั่นจักรยานเหล่านั้นคงไม่ได้แค่กระโดดขึ้นจักรยานในเช้าวันนั้นและตัดสินใจปั่นขึ้นภูเขา ทำไมน่ะหรือ? เพราะดิฉันรู้ดีว่าหากดิฉันพยายามทำเช่นนั้น ดิฉันจะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าที่ทางชันประมาณ 50 หลา พวกเขาคงพยายามฝึกร่างกายทุกวันเพื่อประสบความสำเร็จในการปั่นจักรยาน ในทำนองเดียวกัน เราไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกสัปดาห์ละครั้งโดยไม่ได้เตรียมตัวและหวังว่าจะมีประสบการณ์ทางวิญญาณ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทุกวัน
ชาวโซรัมในพระคัมภีร์มอรมอนไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ แต่บางครั้งพวกเขาก็ละเลยศูนย์กลางของพระกิตติคุณ—พระเยซูคริสต์—และ “ตกไปสู่ความผิดมหันต์” ดังนั้นสิ่งที่ควรเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่งในแต่ละสัปดาห์จึงกลายเป็นเพียงการประชุมหนึ่งที่ต้องเข้าร่วม และเมื่อชุมนุมกันจบ “พวกเขาก็กลับไปบ้าน, ไม่เคยพูดถึงพระผู้เป็นเจ้าของตนอีกเลยจนกว่าจะมาชุมนุมกันอีกที่แท่นศักดิ์สิทธิ์” (แอลมา 31:9, 23)
เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเดียวกันนี้ ต่อไปนี้คือคำถามบางข้อที่ควรพิจารณาเมื่อประเมินการเตรียมตัวให้พร้อมทุกวันสำหรับการประชุมศีลระลึกในแต่ละสัปดาห์:
- เราได้ทำกิจกรรม “วันเสาร์—วันเตรียมพร้อม” ทั้งหมดที่ลดความเครียดในวันสะบาโตหรือไม่? เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อนคนหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าสำหรับครอบครัวของเธอ การจัดเรียงรองเท้าทุกคู่ที่จะใส่ไปโบสถ์ไว้ข้างกำแพงและแขวนเสื้อผ้า โบว์ผูกผม และเนคไทไว้ที่ลูกบิดประตูในคืนวันเสาร์ทำให้ประสบการณ์การประชุมศีลระลึกมีความหมายมากขึ้น
- เราพยายามสอนลูกๆ ถึงความสำคัญของความคารวะระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่? ความคารวะเป็นมากกว่าการควบคุมเด็กเล็กเพื่อให้พวกเขาสงบเงียบ ความคารวะเป็นความรู้สึกรักและเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เด็กเล็กสามารถเรียนรู้ความคารวะได้ด้วยการให้กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
- เราสอนผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในบ้านและโควรัมถึงความสำคัญของหน้าที่ฐานะปุโรหิตของพวกเขาในระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่? ใน หลักคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 13 เราเรียนรู้ว่าฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจแห่งพระกิตติคุณแห่งการกลับใจ เราเข้าใจความสำคัญของบทบาทนั้นหรือไม่? โดยผ่านการรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาช่วยให้เราแต่ละคนสามารถกลับใจและรับการให้อภัยผ่านการปฏิบัติศีลระลึก
- เราเข้านอนในเวลาที่เหมาะสมในคืนวันเสาร์เพื่อตื่นตัวระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่?
- เราทำทุกอย่างที่ต้องทำระหว่างสัปดาห์เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา เพื่อที่เมื่อถึงวันอาทิตย์ เราจะพร้อมและกระตือรือร้นที่จะมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับพระเจ้าระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่?
- เราพร้อมจะประเมินเจตคติและพฤติกรรมส่วนตัวของเราและสื่อสารกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างตรงไปตรงมาระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกหรือไม่?
ในการประชุมใหญ่สามัญของสตรีเมื่อไม่นานมานี้ ซิสเตอร์ลินดา เอส. รีฟส์ เตือนพี่น้องสตรีอย่างกล้าหาญว่า “นิยายรักยวนใจ ละครน้ำเน่าทางทีวี หญิงที่แต่งงานแล้วกับแฟนเก่าติดต่อทางสื่อสังคม และสื่อลามก” เป็นเครื่องมือบางส่วนที่ซาตานใช้เพื่อกั้นไม่ให้เราเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับประสบการณ์ทางวิญญาณที่เราแสวงหา เธอแนะนำเรื่องดังกล่าวว่า “เมื่อเรามีส่วนในการดู อ่าน หรือประสบสิ่งใดที่ต่ำกว่ามาตรฐานของพระบิดาบนสวรรค์ นั่นทำให้เราอ่อนแอ ไม่ว่าเราอายุเท่าไร ถ้าสิ่งที่เราดู อ่าน ฟัง หรือเลือกทำ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้าใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ให้ปิด ฉีกทิ้ง โยนทิ้ง และปิดประตู”
พร้อมไป
นักปั่นจักรยานที่ดิฉันสังเกตเห็นได้เตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการปั่น โดยมีเสื้อผ้าที่เหมาะสม อุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหมาะสม และอุปกรณ์ที่เหมาะสม พวกเขาพร้อมที่จะปั่นขึ้นภูเขา เมื่อเรามาถึงอาคารประชุมเพื่อประชุมศีลระลึกทุกสัปดาห์ เราพร้อมสำหรับประสบการณ์ทางวิญญาณเหมือนกันหรือไม่?
ต่อไปนี้คือคำถามบางข้อที่ควรพิจารณาเมื่อประเมินความพยายามของเราที่จะช่วยให้การประชุมศีลระลึกมีความหมาย:
- เราแต่งกายในลักษณะที่สอดคล้องกับความปรารถนาจะแสดงความคารวะและความรักต่อพระเจ้าหรือไม่?
- เรามาด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด กระตือรือร้นที่จะกลับใจและเรียนรู้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?
- เรามาถึงแต่เช้าและไม่เดินชมห้องนมัสการนานจนเกินไปเพื่อรักษาความรู้สึกคารวะที่ควรจะมีอยู่หรือไม่? การฟังเพลงเปิดการประชุมอย่างเงียบๆ เป็นวิธีที่ดีในการเตรียมตัวสำหรับการประชุม
- เราดื่มน้ำและเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเริ่มการประชุมหรือไม่?
- เราพยายามลดสิ่งรบกวนสมาธิทั้งหมด รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกหรือไม่? เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ สอนว่า “เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกเราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ว่าเราจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา ช่างน่าเศร้าที่ได้เห็นคนละเมิดพันธสัญญานั้นอย่างชัดเจนในการประชุมเดียวกันกับที่พวกเขาทำพันธสัญญา”
- เราจัดการกับสิ่งรบกวนสมาธิของเด็กเล็กอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? เนื่องจากศาสนจักรล้วนเกี่ยวข้องกับครอบครัว เด็กเล็กจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในพิธีศีลระลึกเสมอ แต่เราสามารถเตรียมรับมือกับสิ่งรบกวนสมาธิได้ หากเป็นลูกของเรา เราสามารถพาพวกเขาออกไปเพื่อช่วยส่งเสริมความคารวะต่อที่ประชุม และหากเด็กไม่ใช่ลูกของเรา เราสามารถขจัดสิ่งรบกวนสมาธิโดยไม่ต้องตัดสินหรือใจร้อน หรือแม้แต่ยื่นมือช่วยเหลือตามความเหมาะสม
- เราร้องเพลงสวดที่เลือกไว้ด้วยความคารวะและความเคารพหรือไม่? เพลงสวดเป็นส่วนสำคัญของการนมัสการที่มีความหมาย เราสามารถอัญเชิญและเรียนรู้จากพระวิญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเรามีส่วนร่วม
- เราคาดหวังประสบการณ์ทางวิญญาณระหว่างการประชุมศีลระลึกและยังคงตื่นตัวและเอาใจใส่ระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกและคำปราศรัยหรือไม่?
- เราถือว่าการปฏิบัติศีลระลึกเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่สุดของสัปดาห์หรือไม่? โดยผ่านศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบการให้อภัย ความเข้มแข็ง และโอกาสให้ระลึกถึงพันธสัญญาที่เราทำ
เช่นเดียวกับหลายอย่างในชีวิต เราแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์การประชุมศีลระลึกอย่างที่เราแสวงหา หากเราไปโดยคาดหวังเรื่องทางโลกหรือเรื่องน่าเบื่อ เราก็จะได้อย่างนั้นกลับมาแน่นอน แต่หากเราไปทุกสัปดาห์โดยแสวงหาประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างจริงใจ ประสบการณ์ที่เราสามารถสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ของเรา—และเราเต็มใจทุ่มเทเพื่อให้ได้มา—เราจะพบว่าโดยคร่าวๆ แล้วหนึ่งชั่วโมงทุกสัปดาห์ เราจะมีประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่ทำให้เราพูดว่า “ใช่ นั่นคุ้มค่ากับทุกอย่างที่ฉันทำเพื่อให้ได้มาที่นี่”
หากท่านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงประสบการณ์การประชุมศีลระลึก โปรดอ่านคำปราศรัยของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก” หรือคำปราศรัยของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “การนมัสการที่การประชุมศีลระลึก” หรือดูวีดิทัศน์เรื่อง “จุดประสงค์ของการประชุมศีลระลึก” สำหรับคำแนะนำที่ดีเรื่องอื่นๆ โปรดอ่านบทความเรื่อง “การได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประชุมศีลระลึก”