สอนลูกๆ ให้นมัสการ

บิดามารดาสามารถช่วยลูกๆ ให้มีความคารวะและรู้สึกถึงพระวิญญาณในการประชุมศีลระลึก

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อชาวนีไฟหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงดูแลว่ามีการรวมเด็กๆ ในการการปฏิบัติที่เหนือธรรมชาติของการนมัสการที่เกิดขึ้น มีการบันทึกไว้ว่า “พระองค์ทรงพาเด็กเล็ก ๆ ของพวกเขามา, ทีละคน, และประทานพรให้พวกเขา, และทรงสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเพื่อพวกเขา.” พระองค์ตรัสกับฝูงชน “จงดูเด็กเล็ก ๆ ของเจ้า” บรรดาผู้ใหญ่ประหลาดใจเมื่อมองดูเทพลงมาจากสวรรค์ “ประหนึ่งว่าอยู่ท่ามกลางไฟ; และพวกเทพลงมาห้อมล้อมเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้น, และ … และเทพปฏิบัติต่อพวกเขา.” (3 นีไฟ 17:21, 23, 24)

ลูกๆ ของเราไม่ได้อยู่ที่นั่น ทั้งไม่ได้อยู่ด้วยระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆ เข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนอย่างพวกเขา” (มาระโก 10:14) แต่ลูกๆ ของเรามีค่าสำหรับพระองค์เช่นกัน และพระวิญญาณบริสุทธิ์สัมผัสจิตใจพวกเขาได้  โอกาสหนึ่งที่พระองค์ทรงจะได้สัมผัสลูกๆ ของเรานั้นอยู่ในการประชุมศีลระลึก ซึ่งเป็นพิธีนมัสการอันศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นในพระนามของพระองค์สำหรับสมาชิกศาสนจักรทุกคน

ลูกๆ สามารถนมัสการและรู้สึกถึงพระวิญญาณได้

แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่งดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และละเอียดอ่อนที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานให้  เด็กทุกคนมีความจำเป็นและมีสิทธิที่จะรู้สึกเช่นนั้น  เพื่อให้ลูกๆ ของเรารู้สึกถึงพระวิญญาณ พวกเขาต้องมีส่วนร่วมในการประชุมศีลระลึกและนิ่งสงบพอที่จะรับรู้เสียงกระซิบของสุรเสียงสงบแผ่วเบา  ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แต่เราสอนลูกๆ ที่จะ “นิ่งเสีย และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า” ได้ (สดุดี 46:10) นอกจากการเป็นแบบอย่างต่อลูกๆ ด้านความคารวะแล้ว  บิดามารดา ญาติพี่น้อง ครู และผู้นำจะพบว่าแนวคิดต่อไปนี้มีประโยชน์ในการช่วยเด็กมีประสบการณ์ด้านการนมัสการด้วยความคารวะ

การสอนเรื่องการนมัสการด้วยความคารวะต้องเริ่มต้นที่บ้าน  ยิ่งเริ่มสอนเด็กเล็กตั้งแต่แรกเริ่มให้เร็วเพียงใด ก็จะง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น  เราต้องสอนลูกๆ ถึงความสำคัญของการรู้สึกถึงพระวิญญาณ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้ความรู้สึกที่พิเศษและศักดิ์สิทธิ์นี้ และวิธีการรับรู้สิ่งเหล่านี้  เราสามารถลองจัดช่วงเวลาเงียบๆ ที่เอื้อต่อการมีพระวิญญาณสถิตในบ้านได้เช่นกัน  หลายครอบครัวมีการให้ข้อคิดทางวิญญาณทุกวันด้วยการอ่านพระคัมภีร์และร้องเพลงสวดนอกเหนือจากการสังสรรค์ครอบครัว

บิดามารดาสามารถใช้เวลาในบ้านอธิบายให้เด็กเล็กฟังว่าเหตุใดเราจึงเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก  ระหว่างการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว เราสามารถทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยลูกๆ แต่ละคนเข้าใจสิ่งที่เราพยายามจะสอนพวกเขา

เราสามารถย้ำเตือนลูกๆ ของเราก่อนการประชุมของศาสนจักรถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเราทุกคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร: “เราเข้าไปในอาคารโบสถ์เงียบๆ  เรานั่งด้วยกันเป็นครอบครัวและฟังเพลงบรรเลง  เมื่อเราฟังดนตรี เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับศาสนพิธีศีลระลึกและรู้สึกถึงพระวิญญาณ  นี่เป็นความรู้สึกที่ดีซึ่งเปี่ยมไปด้วยสันติสุขและสงบ”

เราสามารถสอนเด็กให้ฟังเพลงพิเศษเงียบๆ เป็นเวลาสองสามนาทีได้เช่นกัน  ดนตรีเป็นเครื่องมืออัญเชิญพระวิญญาณ และเด็กสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณได้แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจบทเพลงก็ตาม

ช่วยลูกๆ ให้มีส่วนร่วม

เด็กทุกวัยสามารถเพลิดเพลินไปกับการร้องเพลงสวดในระดับต่างๆ  เด็กเล็กชอบฟังวลีซ้ำในบทเพลง  เพลงสวดของเราหลายเพลงมีวลีหรือท่อนร้องซ้ำเช่นนั้น และเราสามารถช่วยเด็กๆ ให้ได้ยินคำเหล่านี้  ถ้าเรากระซิบที่หูของเด็กถึงเนื้อเพลงที่จะมาถึง  เขาจะได้ยินคำเหล่านั้นตามที่ร้อง  ตัวอย่างเช่น ในตอนต้นของท่อนร้องซ้ำ เราอาจกระซิบ “ลองฟัง ‘พระเยซูส่งพักตร์ยิ้มมา’” แล้วดูรอยยิ้มบนใบหน้าของเด็กเมื่อที่ประชุมร้องเพลงคำเหล่านั้น

เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะร่วมขับร้องถ้อยคำพิเศษเหล่านี้  เด็กๆ ชอบร้องเพลง “โอ ช่างแสนอัศจรรย์” “สิริแด่พระเป็นเจ้า” หรือ “Beautiful Day”  เด็กจะค่อยๆ มีส่วนร่วมในการขับร้องท่อนที่ยาวขึ้น ท่อนร้องซ้ำทั้งหมด แล้วสุดท้ายคือขับร้องเพลงสวดนั้นได้ทั้งหมด  การฝึกที่บ้านก็สามารถช่วยได้

เด็กที่อ่านได้บ้างสามารถเรียนรู้ที่จะอ่านเพลงสวดแบบค่อยเป็นค่อยไป และพวกเขาจะมีความรู้สึกของความสำเร็จในการทำเช่นกัน  สิ่งนี้ปูพื้นฐานให้พวกเขา เมื่อเป็นวัยรุ่นพวกเขาจะยังคงมีโอกาสร้องเพลงสวดมากขึ้น

เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะสวดอ้อนวอนตั้งแต่อายุน้อย  บิดามารดาสอนที่บ้าน แม้แต่เด็กเล็กยังกอดอกและก้มศีรษะร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว  ซึ่งเกิดขึ้นแบบเดียวกันกับในการประชุมศีลระลึกระหว่างการสวดอ้อนวอนเปิด การสวดอ้อนวอนปิด และการสวดศีลระลึก  เราสามารถอ่านบทสวดศีลระลึกอันไพเราะและมีความหมายที่บ้านกับลูกๆ ของเราโดยอธิบายให้พวกเขาฟังตามระดับความเข้าใจของพวกเขาถึงความหมายของคำต่างๆ  อาจเป็นประโยชน์สำหรับเด็กโตบางคนที่พยายามท่องจำบทสวด  เช่นเดียวกับเพลงสวด พวกเขาจะ “ได้ยิน” หากพวกเขารู้คำเหล่านั้น  เรายังสามารถอธิบายความหมายของศีลระลึกในวิธีที่ลูกๆ ของเราจะเข้าใจ

ช่วยลูกๆ ให้มีความคารวะ

เราสามารถช่วยให้ลูกๆ ของเราเห็นคุณค่าของคำปราศรัยในการประชุมศีลระลึกได้มาก  ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์แนะนำว่า: “คำพูดที่กระซิบในบางคราเพื่อชี้แจง … ข่าวสารของผู้พูดอาจช่วยให้เด็กเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น บิดาอาจกระซิบว่า ‘นั่นคือพ่อของกอร์ดี้ที่กำลังพูดอยู่ เขากำลังพูดถึงผู้บุกเบิก’”1

บิดามารดาสามารถสรุปสั้นๆ เป็นบางครั้งว่ากำลังพูดอะไรและดึงความสนใจของเด็กไปที่เรื่องราวพระคัมภีร์ที่พวกเขาจำได้: “ลูกรู้จักเรื่องนี้! เป็นเรื่องเกี่ยวกับอบินาไดและกษัตริย์โนอาห์”

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยเสียงกระซิบเบาๆ ที่หูเด็กเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่น

บิดามารดาบางคนอาจให้เหตุผลว่า “ลูกของเราให้ความคารวะจนกระทั่งหลังจากที่ส่งผ่านศีลระลึกเสร็จ และเรารู้สึกว่าเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว” แต่การประชุมทั้งหมดอุทิศให้กับการนมัสการ และเราเชื้อเชิญให้ลูกๆ ของเราเข้าร่วมตลอดทั้งช่วงการประชุม  เรารับส่วนศีลระลึกเพื่อระลึกถึงการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและต่อพันธสัญญาของเรากับพระองค์  คำพูดต่อยอดจากการระลึกถึงสิ่งเหล่านั้นและคำมั่นสัญญา

ลูกๆ ของเราต้องรู้สึกและแสดงความเคารพต่อผู้พูด  เราสามารถแนะนำลูกๆ ของเราด้วยความรัก: “เรารู้ว่าลูกไม่เข้าใจทุกอย่าง แต่ผู้พูดจะบอกเราว่าพวกเขามีความรู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง  เราจะช่วยลูกให้เข้าใจสักเล็กน้อย แล้วเราจะพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นหลังจากที่เรากลับถึงบ้าน”

เมื่อเรานั่งกับเพื่อนที่เป็นผู้สนใจในโบสถ์  เราปรารถนาให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและเปลี่ยนใจเลื่อมใส อีกแง่หนึ่งคือลูกๆ ของเราก็เป็นผู้สนใจของเราเช่นกัน  เราไม่ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้นแบบเดียวกันกับพวกเขาหรือ?

ช่วยลูกๆ ให้รู้สึกถึงพระวิญญาณ

หลายคนมาที่การประชุมศีลระลึกด้วยความปรารถนาที่จะใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นและได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์  พฤติกรรมที่ไม่คารวะของคนใดคนหนึ่งจะทำให้ผู้อื่นเขวจากความปรารถนาที่จะนมัสการ เอ็ลเดอร์อเล็กซานเดอร์ บี. มอร์ริสันซึ่งรับใช้เป็นสมาชิกสาวกเจ็ดสิบตั้งแต่ปี 1989 ถึงปี 2000 เล่าเกี่ยวกับการประชุมศีลระลึกที่แอฟริกาว่า: “ทุกคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างมองไปที่ผู้พูดด้วยใจจดจ่ออย่างยิ่ง  ไม่มีการกระดิกตัวไปมาบนม้านั่ง  ไม่เดินไปมาหรือออกไปดื่มน้ำ  ไม่มีการเข้าห้องน้ำ  ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว  ระดับความเข้มแข็งทางวิญญาณในการประชุมศีลระลึกสูงยิ่ง2

เราไม่สามารถบังคับให้ลูกๆ ของเรานมัสการ แต่เราสามารถช่วยพวกเขาให้ประพฤติในรูปแบบที่อัญเชิญพระวิญญาณได้  เด็กแต่ละคนพิเศษ และแน่นอนว่าวิธีที่ใช้ได้กับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่ง  แต่บิดามารดาที่มีความตั้งใจร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยให้ลูกๆ นมัสการและรู้สึกถึงพระวิญญาณจะพบปีติที่พวกเขามีสิทธิ์ได้รับการเปิดเผยและการดลใจในเรื่องนี้

นอกเหนือจากครอบครัวและญาติสนิทแล้ว คนอื่นๆ สามารถส่งเสริมเด็กให้มีความคารวะและความเคารพได้เช่นกัน  ผู้พูดสามารถใช้ภาษาที่เรียบง่ายและรวมเรื่องราวพระคัมภีร์ที่คุ้นเคยได้  ผู้อำนวยเพลงและผู้เล่นออร์แกนสามารถใช้เพลงที่เด็กๆ จะรู้จักและเพลิดเพลินได้  ผู้นำฐานะปุโรหิตสามารถลงมือปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการประชุมที่อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ประทับอยู่ที่นั่น

โอกาสอันยิ่งใหญ่

พิธีการนมัสการนับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับเด็กที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการควบคุมตนเอง เคารพสิทธิและความต้องการของผู้อื่น การชุมนุมศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นโอกาสที่เราทุกคนจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรู้สึกและปรารถนาการปฏิบัติของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จากนั้นเมื่อพวกเขาเติบโต พวกเขาจะมีความรักที่ลึกซึ้งและมั่นคงต่อพระผู้ช่วยให้รอด  ความรักที่จะค้ำจุนพวกเขาบนทางคับแคบและแคบสู่พระพาหุของพระองค์

ความคารวะ

“เราต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประชุมศีลระลึกของเราและทำให้เป็นชั่วโมงแห่งการนมัสการด้วยสุดความสามารถ  ปลูกฝังวิญญาณแห่งความคารวะ มีเจตคติซึ่งผู้เข้าอาคารโบสถ์ทำกันคือ สงบเงียบ ให้ความคารวะ และครุ่นคิด … การประชุมศีลระลึกควรเป็นช่วงเวลาแห่งการเติมพลังทางวิญญาณสำหรับคนของเราเมื่อพวกเขามารวมกันเพื่อรับส่วนศีลระลึกและต่อพันธสัญญากับพระเจ้าในวันอาทิตย์”

 

President Gordon B. Hinckley, Pittsburgh Pennsylvania Regional Conference, Apr. 27, 1996; อ้างอิงใน Ensign, Aug. 1997, 6; July 1997, 73.