ประธานพระวิหารขอให้ดิฉันเขียนเกี่ยวกับการใช้คู่มือ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งการเขียนครั้งนี้ดิฉันเขียนตามความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ของดิฉันเอง

ใครควรใช้คู่มือเล่มนี้บ้าง?
- ครูในชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้วิธีสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างมีประสิทธิภาพ การสอนพระกิตติคุณไม่เหมือนการสอนตามตำราเรียน หรือหนังสือปกติทั่วไป เพราะ [นี่เป็นการ] สอนเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่และสอน [เรื่อง] จิตวิญญาณ ครูที่ถ่อมใจและได้รับการดลใจจะปลูกฝังความรักพระคัมภีร์ในตัวผู้เรียนได้
- ผู้นำฐานะปุโรหิตและฝ่ายประธาน เช่น ฝ่ายประธานโรงเรียนวันอาทิตย์ ฝ่ายประธานโควรัมฐานะปุโรหิตทั้งอาโรนและเมลคีเซเดค ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ ฝ่ายประธานเยาวชนหญิง และฝ่ายประธานปฐมวัย ใช้เป็นแนวทางในการสนทนา ในการประชุมสภาวอร์ด สภาสเตค และสภาครู เป็นต้น
- ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ทุกครั้งที่ดิฉันไปปฏิบัติศาสนกิจจะกลับมาด้วยคำถามตนเองทุกครั้งว่า วันนี้ดิฉันขยายเส้นขอบฟ้าอะไรให้กับผู้รับการปฏิบัติบ้าง?
- บิดามารดา เป็นแหล่งช่วยและให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิต การสอนลูกๆ คนในครอบครัว และในกิจกรรมยามค่ำที่บ้าน
- สมาชิกทุกคน
คู่มือ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ไม่ใช่การฝึกทักษะในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจพระคัมภีร์ แต่เป็นการพัฒนาปรับปรุงชีวิตของผู้สอนให้เหมือนพระผู้ช่วยให้รอด และเมื่อเราพัฒนาได้เราจะมีพระวิญญาณในการสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด เราจะมีอิทธิพลในการสอนเช่นเดียวกับพระองค์ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของเราจะเปลี่ยนไป เริ่มที่ตัวเรา
ดิฉันเรียนรู้อะไรจากคู่มือเล่มนี้?
วิธีการสอนของพระองค์ กุญแจของการสอนอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน คือ การดำเนินชีวิตอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงดำเนินพระชนม์ชีพ แสดงว่าเราต้องเอาใจใส่มากยิ่งขึ้นที่จะสำรวจตนเองว่าการดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นแบบใดและการดำเนินชีวิตของเราเป็นแบบใด คุณสมบัติของพระผู้ช่วยให้รอดที่เราต้องมี ได้แก่
- การแสดงออกถึงความรัก
- การแสวงหาความรู้
- การเชื่อฟัง
- การยึดมั่นอย่างสมบูรณ์ต่อพระพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
- ทรงรักพระคัมภีร์และใช้เพื่อสอนและเป็นพยาน
- ทรงดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอน
เมื่อดิฉันได้รับการเรียก หรือมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบางอย่าง บางทีภารกิจนั้นยากสำหรับดิฉัน แต่ดิฉันจะจดจำข้อนี้และเตือนตนเองว่าต้องพยายามทำให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อถวายงานดีต่อพระองค์ และทุกหน้าที่ ทุกความรับผิดชอบ พระองค์จะทรงนำทางและคอยช่วยเหลือดิฉันเสมอ
นอกจากคุณสมบัติของพระผู้ช่วยให้รอดแล้ว ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักธรรมของการเป็นครู ตามคู่มือการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด มีหลักธรรม 4 ประการที่ดิฉันต้องฝึกฝน
- รักคนที่ท่านสอน
- สอนด้วยพระวิญญาณ
- สอนคำสอน
- เชิญชวนให้เรียนรู้อย่างพากเพียร
หากเราไม่มีคู่มือ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด เราแต่ละคนจะสอนในวิธีที่เราคิด และเราต่างคนต่างคิด แต่ที่เราต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ คือ เรากำลังสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องสอนในวิธีของพระองค์
ตัวอย่างของหลักธรรมข้อแรก รักคนที่ท่านสอน
คำนี้ดูเหมือนง่าย เพราะไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า รัก แต่คำว่า รักคนที่ท่านสอน ต้องเป็นแบบใด? ต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า รัก? สิ่งที่แสดงให้ดิฉันเห็นว่าการรักคนที่เราสอนเป็นเช่นไร ตามคู่มือได้ระบุไว้ดังนี้
- มุ่งเน้นที่ผู้เรียน เราต้องสนใจผู้เรียนว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ใด แล้วนำหลักธรรมที่จะต้องสอนมาแสดงให้ผู้เรียนได้มองเห็นว่าหลักธรรมนี้จะช่วยพวกเขาอย่างไร
- เอื้อมออกไปหาคนที่ไม่เข้าชั้นเรียน งานปฏิบัติศาสนกิจเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้การสอนของเราสมบูรณ์ เพราะเราจะรู้จักผู้เรียนเป็นส่วนตัวมากขึ้นเมื่อเราได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขา รวมทั้งผู้คนที่ไม่เข้าชั้นเรียน ความต้องการ ความบกพร่อง ปัญหา ของผู้รับการปฏิบัติศาสนกิจ คือ โจทย์ข้อหนึ่งในการสอน
- เชื้อเชิญด้วยความรัก การแสดงความรักอย่างจริงใจมีพลังผ่านการปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้ใจของผู้กำลังประสบปัญหาอ่อนลง เชื้อเชิญให้พวกเขาแสวงหาความรู้เพื่อนำความรู้พระกิตติคุณมาใช้ในการดำเนินชีวิต
- อดทนและไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะพบเจอปัญหาใด ขอให้เราอดทน และทำต่อไปไม่ย่อท้อ เราจะยังคงปฏิบัติต่อไป เพราะพระองค์ทรงไม่เคยที่จะย่อท้อกับเราที่ยังไม่ดีพร้อม ดิฉันได้พบสันติสุขจากความอดทนและไม่ย่อท้อเสมอเมื่อดิฉันกลับจากการปฏิบัติศาสนกิจทุกครั้ง
ดิฉันขอเชิญชวนให้พี่น้องทุกท่านใช้คู่มือ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ในการทำงานรับใช้และในการดำเนินชีวิตของทุกท่าน